ประวัติคอมพิวเตอร์

ประวัติคอมพิวเตอร์ และการดำเนินธุรกิจคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย

1. บทนำ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นจากการหาเครื่องผ่อนแรงในการคำนวณ คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกมีขึ้นเมื่อใด ยากที่จะตอบ ขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่าคอมพิวเตอร์ ในระยะแรก จะมีการประดิษฐ์เครื่องคำนวณอัตโนมัติ และเครื่องถอดรหัสชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องกลผสมวงจรไฟฟ้า หรือเครื่องกลล้วนๆ เครื่องขนาดใหญ่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออ่านบัตรเจาะรู สำหรับการเก็บข้อมูล (Punched- Card) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเครื่องจักรที่ใช้โปรแกรมสั่งงาน ในยุคแรกได้มีการดัดแปลงสร้างเครื่องคำนวณไฟฟ้าที่สามารถอ่านบัตรที่เจาะรู ได้ ต่อมาในการทำสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ได้ว่าจ้าง “ฮอลเลอริธ” มาทำการประมวลผลการสำรวจโดยใช้เครื่องทำตารางข้อมูล (Tabulating Machine) และหีบเรียงบัตร (Sorting) จากนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้งานโดยหน่วยงานวิจัยทางทหารของกองทัพบก สหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานเพื่อกิจกรรมทางทหาร ทำให้ปรากฏสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นมาก ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่พัฒนาขึ้น มีชื่อว่า ENIAC (Electronic Numerical Integrator And Calculator)

หากจะพิจารณาว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราหมายถึงคือ เครื่องที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และใช้หน่วยนับพื้นฐานเป็นหน่วยฐาน 2 (Binary) ประกอบด้วยตัวเลข 0 และ 1 โดยการใช้วงจร Binary Counter เป็นหลัก จะมี 2 แหล่ง ที่ต่างก็อ้างความเป็นรายแรก ในการสร้างเครื่อง Digital Computer ของโลก ได้แก่: ABC (Atanasoff- Berry Computer) ถือเป็นเครื่องคำนวณเครื่องแรก ที่เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1937 และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Iowa ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ. 1942 อย่างไรก็ดี ENIAC (Electronic Numerical Integrator And Calculator) เป็นคอมพิวเตอร์ที่คนส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลก และเป็นเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกของโลก ที่นำหลอดสุญญากาศ และการควบคุมการทำงานโดยวิธีเจาะชุดคำสั่งลงในบัตรเจาะรู (Punched- Card) ซึ่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1943 แล้วเสร็จเมื่อปี 1946 แต่ในเวลาต่อมา ศาลของสหรัฐอเมริกา ได้พิจารณาให้สิทธิบัตรแรกของเครื่อง Digital Computer เป็นของ Professor John Vincent Atanasoff ดังนั้น หากพิจารณาอย่างเคร่งครัด คอมพิวเตอร์แบบ Digital เครื่องแรกของโลก คือ ABC ไม่ใช่ ENIAC

2. การแบ่งยุคเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคต่างๆ ในแง่ของการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์: เครื่องคอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะเป็นอุปกรณ์ทดลองในยุคแรกคอมพิวเตอร์ยังใช้หลอดสุญญากาศ (Vacuum Tube) ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความร้อนสูง ก่อนที่สารกึ่งตัวนำจะถูกนำมาใช้แทน คอมพิวเตอร์ยุคนี้มีขนาดใหญ่ และใช้ส่วนประกอบเป็นชิ้น (Discrete Components) การทำงานช้า ไม่มีภาษาโปรแกรมขั้นสูง หน่วยความจำใช้เป็น Magnetic Drum เครื่องคอมพิวเตอร์ ENIAC ใช้หลอดสุญญากาศมากถึง 18,000หลอด น้ำหนักเครื่องรวมเกือบ 50ตัน ต่อมา นำทรานซิสเตอร์ (Transistor) ซึ่งทำจากสารกึ่งตัวนำมาใช้แทนหลอดสุญญากาศ แต่วงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังใช้ส่วนประกอบเป็นชิ้นๆ และได้พัฒนาความเร็วสูงขึ้นโดยใช้ Magnetic Core Memory เป็นหน่วยความจำ ทำให้ความจุ และความเร็วเพิ่มขึ้น และเริ่มใช้ภาษาชั้นสูง คือ ภาษา FORTRAN

 

ในยุคแรกๆนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่ และมีราคาแพงมากเมื่อใช้งานต้องนำมาไว้ในห้องที่ปรับอุณหภูมิเป็นพิเศษ และต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญประจำเครื่อง การทำงานของเครื่อง จะเป็นการทำงานทีละโปรแกรมโดยไม่มีโปรแกรมควบคุม (Operating System) และ Mass Storage หรือ Disk  ภายนอก คอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองตอบความต้องการในการใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการประหยัดพลังงาน และต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์

 

ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งสมัยการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เป็น 5ยุค ดังนี้:

 

คอมพิวเตอร์ยุคหลอดสุญญากาศ หรือ Vacuum Tube (ค.ศ. 1945- ค.ศ. 1958): เครื่องคอมพิวเตอร์ยุคหลอดสุญญากาศถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงสงคราม โลก ครั้งที่ 2 ในลักษณะเป็นอุปกรณ์ทดลอง โดยในยุคเริ่มแรก ยังใช้หลอดสุญญากาศ (Vacuum Tube) ที่มีขนาดใหญ่และมีความร้อนสูง (ในภายหลังเปลี่ยนไปใช้สารกึ่งตัวนำแทน) จึงทำให้คอมพิวเตอร์ยุคนี้มีขนาดใหญ่ และใช้ส่วนประกอบเป็นชิ้น (Discrete Components) การทำงานช้า ไม่ใช้ภาษาโปรแกรมขั้นสูง หน่วยความจำใช้เป็น Magnetic Drum เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ ENIAC เป็นคอมพิวเตอร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นในยุคนี้โดยใช้หลอดสุญญากาศมากถึง 18,000หลอด จึงมีน้ำหนักมากถึงเกือบ 50ตัน

 

คอมพิวเตอร์ยุคทรานซิสเตอร์ หรือ Transistor (ค.ศ.1957- ค.ศ.1964): ทรานซิสเตอร์ (Transistor) ทำจากสารกึ่งตัวนำที่นำมาใช้แทนหลอดสุญญากาศ แต่วงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังใช้ส่วนประกอบเป็นชิ้นๆ คอมพิวเตอร์ยุคนี้ ได้รับการพัฒนาให้มีความจุ และความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะใช้ Magnetic Core Memory เป็นหน่วยความจำ เริ่มใช้ภาษาชั้นสูง คือ ภาษา FORTRAN สำหรับทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และใช้วงแหวนแม่เหล็กเป็นหน่วยความจำ คอมพิวเตอร์ยุคนี้ มีขนาดเล็กกว่ายุคหลอดสุญญากาศ ใช้กระแสไฟฟ้าน้อย มีประสิทธิภาพในการทำงาน และความแม่นยำเหนือกว่าเช่นบริษัท ไอบีเอ็ม ได้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ทรานซิสเตอร์ มีขนาดเล็กลงกว่ายุคสุญญากาศ ขีดความสามารถในการทำงานดีกว่า ต่อมา ไอบีเอ็ม ได้พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ทรานซิสเตอร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า “เมนเฟรม” (mainframe) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานคอมพิวเตอร์สู่ยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

คอมพิวเตอร์ยุควงจรรวม IC หรือ Integrated Circuit (ค.ศ.1965– ค.ศ.1969): IC เป็นสารกึ่งตัวนำที่สามารถบรรจุวงจรทางตรรกะ แล้วพิมพ์ลงบนแผ่นซิลิคอน ที่เรียกว่า Chip ซึ่งสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับทรานซิสเตอร์หลายร้อยตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุค IC มีขนาดเล็กลง ประสิทธิการทำงานเร็วขึ้น ใช้พลังงานไฟน้อย และพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฮาร์ดดิสก์ (Harddisk) โดยสามารถบันทึกข้อมูลลงในแผ่นบันทึกข้อมูล และใช้หัวอ่านฮาร์ดดิสก์อ่านข้อมูล

 

คอมพิวเตอร์ยุค VLSI หรือ Very Large Scale Integrated Circuit (ค.ศ.1970– ค.ศ.1989): การพัฒนาการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้นำวงจรขนาดใหญ่มารวมอยู่ในแผ่นซิลิคอน ที่เรียกว่า “วงจร VLSI” ที่นำวงจรทรานซิสเตอร์มารวมอยู่ในแผ่นซิลิคอนขนาดเล็ก และผลิตเป็นหน่วยประมวลผลที่มีความซับซ้อนเรียกว่า “ไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor)” ซึ่งเป็นวงจรที่สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ให้มีขนาดเล็กลง และเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น เรียกว่า “ไมโครคอมพิวเตอร์ (Microcomputer) และพัฒนาฮาร์ดดิสก์ให้มีขนาดเล็กลงตามไปด้วย ไมโครคอมพิวเตอร์มีขนาดหลากหลายโดยขนาดเล็กสุดมีขนาดเท่าอุ้งมือ ได้แก่ ปาล์ม ทอป (Plam Top) โน้ตบุ๊ก (Note Book) คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Deck Top) และแท็บเล็ต (Tablet PC) ในยุคนี้มีอุปกรณ์เสริมในการป้อนข้อมูล เช่นคีย์บอร์ด (Keyboard) ทัชสกรีน (Touch Screen) และพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ มาใช้งาน อาทิ Word processing โปรแกรมการจัดทำฐานข้อมูล DBASE II+  และ Lotus 1- 2- 3 เป็นต้น

 

คอมพิวเตอร์ยุคเครือข่าย หรือ Network (ค.ศ.1990- ปัจจุบัน): เป็นยุคที่เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กร โดยใช้เครือข่ายที่เรียกว่า แลน (LAN- Local Area Network) ซึ่งเชื่อมต่องานหลายๆ ด้านขององค์กร และก่อให้เกิดเครือข่ายคอมพิวเตอร์เรียกว่า “อินทราเน็ต (Intranet) และโครงข่ายองค์กรเมื่อเชื่อมต่อกับระบบสากล จะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลกซึ่งเรียกว่า “อินเทอร์เน็ต Internet” ซึ่งช่วยเชื่อมต่อเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร และการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจการทำงาน ซึ่งคอมพิวเตอร์ในยุดนี้ สามารถทำงานได้หลายด้าน อาทิ ประมวลผล คิด มองเห็น ฟัง และโต้ตอบได้ การประมวลผลข้อมูลเป็นแบบขนาน (Parallel) แทนแบบอนุกรม (Serially) และซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้งานง่ายขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งาน คอมพิวเตอร์ยุคเครือข่ายนี้ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเทคโนโลยีใยแก้วนำ แสง (Fiber optics Technology) ในระบบเครือข่ายดิจิตอลด้วย

 

 

3. คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย: ประเทศไทยถือว่า เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Digital คือเครื่อง IBM รุ่น 1620 (เป็น Bit Machine) เพราะการผลักดัน และสนับสนุนของศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต กันตะบุตร ในปี พ.ศ. 2506 ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหัวหน้าภาควิชาสถิติคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ เป็นระบบ Punch Card ไม่มี System Disc ในการใช้งาน โปรแกรมจะถูกป้อนเข้าระบบด้วยเครื่องอ่านบัตรเป็น Machine Language ระบบดังกล่าว นอกจากใช้ในการสอน Programing ภาษา ASSEMBLY, FORTRAN และ COBOL แล้วยังใช้กับงานด้านสถิติอีกด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2507 คอมพิวเตอร์เครื่องที่ 2 ของประเทศ คือ เครื่อง IBM รุ่น 1401 (เป็น Bit Machine) ได้รับการนำมาติดตั้งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อใช้ทำงานด้านสำมะโนประชากร ซึ่งทำได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจเข้าใช้ระบบนี้ได้ด้วย

รูปภาพ เครื่อง IBM รุ่น 1401 (เป็น Bit Machine) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2507

4. การใช้คอมพิวเตอร์ของภาครัฐ ในประเทศไทย: ในยุคแรก เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมีราคาสูงมาก ในการอนุมัติงบประมาณ ให้หน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นต้องตรวจสอบความพร้อม และความจำเป็นอย่างเคร่งครัด รัฐบาล จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐขึ้น คณะกรรมการชุดนี้ จะต้องให้ความเห็นชอบต่อโครงการ ขอมี และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานของรัฐ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ โดยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ จึงให้มีผู้แทนของสำนักงานฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐโดยตำแหน่ง นอกจากบทบาททางคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐแล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติยังทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมความรู้ความชำนาญด้านการ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรม ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ สถิติจำนวนเวลาที่ใช้เครื่องกับจำนวนบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการแสดงความพร้อม ที่หน่วยงานนั้นๆ จะสามารถขอมี และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานของตน ต่อคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ แต่เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้นำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น บทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ถูกโอนย้ายไปอยู่ที่สำนักงบประมาณ ก่อนที่จะถูกยุบเลิกไปประมาณปี พ.ศ. 2534

5. ธุรกิจคอมพิวเตอร์ ในประเทศไทย: สำหรับผู้ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยเป็นรายแรกนั้น คาดว่าคือบริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ติดตั้ง และบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ ของประเทศ ได้แก่เครื่อง IBM1620 และ IBM1401 (เป็น Bit Machine) การทำธุรกิจคอมพิวเตอร์เมนเฟรมในอดีต จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง และการลงทุนจำนวนมาก ในขณะที่ความต้องการในตลาดยังจำกัดอยู่ ผู้ค้าจึงจำกัดอยู่ที่บริษัทสาขาของผู้ผลิตเอง และบริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์จากผู้ ผลิตอีกต่อหนึ่ง โดยผู้ค้าประเภทหลัง อาจมีความจำเป็นที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในกิจการหลักของตนอยู่แล้วก็ได้ ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ IBM (Thailand), UNIVAC, และ CDC- Control Data Corp. สำหรับผู้ใช้หลักของกลุ่มนี้ คือ: IBM (Thailand): สำนักงานสถิติแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์คอมพิวเตอร์ของ IBM (ประเทศไทย) UNIVAC: บริษัทซัมมิทคอมพิวเตอร์ จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ CDC- Control Data Corp.: สโมสรราชตฤณมัยสมาคม

รูปภาพ เครื่อง IBM รุ่น 1620 (เป็น Bit Machine) ที่ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2506

 

สำหรับการดำเนินงานของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด นั้น ในยุคแรกๆ ของการรุกเข้าสู่ธุรกิจไอทีเมื่อปี พ.ศ. 2497 บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรลงบัญชี เครื่องบวกเลขชนิดไฟฟ้า และธรรมดายี่ห้อ Burroughs หรือ Unisys (ในปัจจุบัน) ให้แก่ธนาคารต่างๆในประเทศไทย ทั้งนี้ ยังมีธุรกิจอีกกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ค้าเครื่องจักรลงบัญชี ซึ่งพัฒนาขีดความสามารถเทียบชั้นคอมพิวเตอร์ เช่น Burroughs โดย บริษัท ยิบอินซอย จำกัด NCR โดย บริษัท เคี่ยนหงวน จำกัด และ Olivetti โดย บริษัทล็อกซ์เล่ย์ มหาชน จำกัด โดยผู้ค้ากลุ่มนี้ จะขายให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่เพื่อใช้สำหรับงานลงบัญชีลูกค้า ของธนาคาร ในลักษณะการทำประมวลผลคอมพิวเตอร์โดยใช้แถบแม่เหล็กด้านหลัง Ledger Cards เป็นตัวกลางการเก็บข้อมูลรายธุรกรรม (Transaction Processing Media)

รูปภาพ เครื่อง Burroughs Machines ภาพซ้าย: คุณธวัช ยิบอินซอย สามัญไฟฟ้า วสท. #6226 และคุณเทียนชัย ลายเลิศ วุฒิวิศวกรไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ วสท. #6991 ในปี 2520

                     

รูปภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ Unisys ในปี 2535

ธุรกิจคอมพิวเตอร์ Main Frame ในยุคแรกๆ ของประเทศไทยนั้น แทบจะผูกขาดอยู่กับบริษัทไอบีเอ็ม แต่เพียงผู้เดียว โดยในช่วงปี พ.ศ.2517 บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ได้ขยายกิจการจากเครื่องจักรลงบัญชีไปสู่เมนเฟรม โดยขายเครื่องขนาดกลางรุ่น B3700 (เป็น Decimal Machine) ให้กับธนาคารกสิกรไทย เป็นลำดับแรก ต่อมาได้ขายเครื่องขนาดเล็ก (Small Main Frame) รุ่น B1700 (เป็น Stack Machine) ให้กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลาง ซึ่งเป็น Decimal Machine ที่บริษัทศูนย์คอมพิวเตอร์ประเทศไทยจำกัดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของยิบอินซอย ต่อมา ธุรกิจได้ขยายไปสู่กองทัพอากาศ การไฟฟ้านครหลวง กระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหม กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย (เป็น Stack Machine รุ่น 1800) และหน่วยงานราชการอื่นๆ ส่วนบริษัท ซัมมิท จำกัด ก็ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจกับทางราชการพอสมควร มีลูกค้าสำคัญคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น สำหรับบริษัท คอนโทรล ดาต้า ประสบความสำเร็จในโครงการขนาดใหญ่ที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย นอกนั้นเป็นเครื่องขนาดเล็กในหน่วยงานต่างๆ

 

ในขณะเดียวกัน NCR และ Olivetti ทำการตลาดอยู่กับเครื่องจักรทำบัญชีรุ่นเล็กเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี สำหรับงานทำบัญชีนั้น Burroughs Corp. ก็จำหน่ายเครื่องประเภทนี้เช่นเดียวกัน เรียกกันว่า Accounting machines โดย ในยุคของเมนเฟรมนั้น Burroughs ได้เริ่มการผลิต และจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเรียกกันว่า Mini Computer ขึ้นเช่นเดียวกันอีกด้วย

6. ซอฟต์แวร์ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System Software) ได้รับการออกแบบขึ้น เพื่อปฏิบัติงานร่วมกันกับฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ระบบเปิด รวมทั้งโปรแกรมที่อยู่ระหว่างฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ประยุกต์ มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของฮาร์ดแวร์ และสนับสนุนชุดคำสั่ง (Control Instruction Sets) จาก ซอฟต์แวร์ระบบคอมพิวเตอร์ ในยุคเมนเฟรมนั้น ผู้ผลิตเครื่องฮาร์ดแวร์ แต่ละบริษัท ต่างก็มีโปรแกรมควบคุมการทำงาน Operating System ของตนเอง (Propriety Operating System) การโอนย้ายโปรแกรมระบบงานจากเครื่องของบริษัทหนึ่ง ไปอีกบริษัทหนึ่ง (Application Software Conversion) เป็นงานยาก และค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับผู้ผลิตเดิม ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทที่คิดจะดึงลูกค้าจากฐานเดิม เช่น AT&T Bell Laboratory จึงแทบไม่มีโอกาส โดยเฉพาะผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหม่ๆที่อยากได้ส่วนแบ่งตลาดจากฐานเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทไอบีเอ็ม จึงเกิดการร่วมมือกับสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาระบบควบคุมแบบเปิดขึ้น (open Systems) โดยโครงการนี้ เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1969 มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อ UNIX ขึ้น และนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ในเวลา 10ปีต่อมา ในช่วงหลังได้มีบริษัทที่ร่วมการวิจัยที่สำคัญ คือ SUN Microsystem และ DEC ซึ่งกลายเป็นผู้นำตลาดของคอมพิวเตอร์ระบบเปิด ต่อมา บริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายเมนเฟรม เช่น IBM ได้ผลิตเครื่องไว้รองรับตลาดเปิด โดยพัฒนาระบบปฏิบัติการชนิดเปิดชื่อ AIX ซึ่งในระยะเวลาหนึ่งดูเหมือนว่าจะมีสินค้าที่แข่งกันเองคือ Mini Computer และ ระบบเปิดที่ใช้ AIX อย่างไรก็ดี ในยุคเริ่มต้นของระบบเปิดราว ค.ศ. 1980 คอมพิวเตอร์ระบบเปิดยังไม่ได้รับความเชื่อถือในการนำมาใช้ในงานสำคัญ ทั้งๆที่มีการยอมรับในความเร็ว แต่ยังไม่มั่นใจในความเสถียรของระบบโดยรวม (Global System Stability)

7. การพัฒนาด้านวิศวกรรมอีเล็คทรอนิกส์ และสื่อสารข้อมูล: ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1970- 1980 นอกจากจะพัฒนาระบบปฏิบัติการระบบเปิดกันแล้ว ด้านฮาร์ดแวร์ สื่อสารข้อมูลก็พัฒนาอย่างมาก โดยทางด้านการประมวลผลได้ประดิษฐ์ Micro Processor ขึ้น ด้านชิ้นส่วนของระบบคอมพิวเตอร์ได้ประดิษฐ์ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง ทำงานได้เร็วขึ้น และมีราคาถูกลง ราคาระบบคอมพิวเตอร์ลดลงเป็นทวีคูณ การสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Communication) ซึ่งเดิมจำกัดการใช้งานไว้เพียงเพื่อแสดงผล หรือนำเข้าข้อมูลจำนวนน้อย เนื่องจากข้อจำกัดของความเร็วการสื่อสาร (Data Transfer Rate หรือ Baud Rate) เมื่อนำใยแก้วนำแสงมาใช้ ทำให้ข้อจำกัดด้านความเร็วของการสื่อสารก็หมดลง นำไปสู่ยุคใหม่ของการประมวลผลข้อมูลเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Data Networking) ผ่านใยแก้วนำแสง กลายเป็นระบบสำคัญของการประมวลผลข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Major Data Processing) จากที่เคยเป็นส่วนน้อยของระบบ โดยรวมแล้ว ในหลายสิบปีหลังนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ทั้งส่วนวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ ได้เอื้อต่อการพัฒนา ด้าน Software เป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อจำกัดต่างๆได้ถูกกำจัดไปหมดสิ้น ด้วยเทคโนโลยีรุ่นใหม่

8. Internet และการสื่อสารไร้สาย: อินเทอร์เน็ต กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) โดยพัฒนามาจากอาร์พาเน็ต (ARPAnet) ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานโครงการวิจัย ขั้นสูง (Advanced Research Projects Agency) หรือเรียกชื่อย่อว่า อาร์พา (ARPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (Department of Defense) จุดประสงค์ของโครงการอาร์พาเน็ตมีขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่คง ความสามารถในการติดต่อสื่อสารถึงกันได้ และได้รับการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องซึ่งใช้การเชื่อมต่อโดยใช้โปรโตคอล TCP/ IP (Transmission Control Protocol/ Internet Protocol ) เป็นครั้งแรก โดยในปี ค.ศ. 1990 อาร์พาเน็ตรองรับ Backbone ไม่ไหวจึงยุติบทบาท แล้วเปลี่ยนไปใช้ NFSNET และเครือข่ายอื่นแทน และได้เชื่อมเครือข่ายต่างๆ ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีขนาดใหญ่มากขึ้น จนเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

หลังจากการพัฒนาระบบในปี ค.ศ. 1969 ระบบอินเทอร์เน็ต ก็ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก จนมีผู้ใช้ระบบหลายพันล้านคน ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต ในปี 2530 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หลังจากนั้น ก็นำมาใช้อย่างแพร่หลาย และรวดเร็ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็เริ่มให้บริการโทรศัพท์แบบไร้สาย และการให้สัมปทานเลขหมายโทรศัพท์แก่เอกชน ทำให้สามารถเข้าถึงบริการเครือข่ายโทรศัพท์ได้โดยง่าย ทั้งที่แต่เดิมต้องรอคอย เพื่อขอใช้เลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานกัน (Base Line) นับเป็นสิบปี โดยในปัจจุบัน การใช้คอมพิวเตอร์ สามารถทำจากเครื่องโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ผ่านเครือข่ายทั้งใยแก้ว และไร้สาย ได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวเป็นอย่างยิ่ง

จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาในช่วง 50ปีที่ผ่านไปนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนจากการเป็น “กล่องวิเศษ” ที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีทุนทรัพย์เท่านั้นจึงจะใช้งาน คอมพิวเตอร์ได้ มาเป็นเพียงเครื่องใช้ประจำบ้าน (Home Use) หรือประจำตัวบุคคล (Personal Usage) ที่ผู้มีฐานะปานกลาง ก็สามารถมีไว้ใช้งานได้ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC- Personal Computer) นั้น มีราคาต่ำกว่า 50,000บาทในปัจจุบัน แต่กลับมีประสิทธิภาพการทำงาน เหนือกว่าเมนเฟรม ราคาหลายสิบล้านบาทของเมื่อ 30ปีที่แล้ว อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต ถือเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเครือข่ายย่อยๆ (Interfacing) รวมตัวเข้าเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ โดยสามารถติดต่อสื่อสารคอมพิวเตอร์กันได้หลากหลายรูปแบบ โดยผ่านสายเคเบิล (Cable) สายโทรศัพท์ สายไฟเบอร์ออฟติก สายใยแก้วนำแสง และ/ หรือดาวเทียม เป็นต้น ทำให้การสื่อสารคอมพิวเตอร์ภายในโลกมนุษย์ ได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

9. ทิศทางอนาคตคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (แนวโน้มในอนาคต): จากระยะเริ่มแรกการใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งมีขนาดใหญ่แต่ทรัพยากรจำกัด การพัฒนาโปรแกรมหนักไปในทางปรับระบบ ให้อยู่ภายในกรอบของทรัพยากรทาง Hardware การพัฒนาด้านวิศวกรรมมีผลทำให้ความเร็วของการประมวลผล สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ เช่นเดียวกับราคาหน่วยความจำ และราคาหน่วยเก็บข้อมูล ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นอัตราทวีคูณ ด้านการพัฒนาโปรแกรม ก็มีภาษาระดับสูงช่วยในการพัฒนาให้ง่ายขึ้นมาก

ในแง่ผู้ใช้ระบบ จะอยู่ระยะห่างจากเครื่องมากขึ้น หมายถึงผู้ใช้งานจะมุ่งใช้งานโดยไม่สนใจว่าระบบงานนั้นพัฒนามาด้วยภาษาอะไร และประมวลผลด้วยเครื่องอะไร ลักษณะการใช้งานนอกจากใช้งานทางธุรกิจหลักแล้วมีงานประเภทวิเคราะห์ข้อมูล เกิดขึ้นมาก เนื่องจากการเห็นประโยชน์เชิงบริหาร และวางแผนการบริหารจากการวิเคราะห์ดังกล่าว งานด้านวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เกิดความต้องการหน่วยเก็บข้อมูล และความเร็วของการประมวลผลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จากการที่ผู้ใช้งานอยู่ห่างจากเครื่องประมวลผลมากขึ้นเช่นนี้ ความต้องการหน่วยเก็บข้อมูล และความสามารถในการประมวลผลระดับสูง ทำให้มีการใช้บริการร่วมกันในระบบ Cloud Computing ซึ่งเป็นการรวมทรัพยากร และใช้ร่วมกันอันเป็นวิธีใช้งานที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ระบบแยก การใช้งานในลักษณะนี้ น่าจะเป็นรูปแบบต่อไป โดยเฉพาะผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่

ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้ใช้วงจรเบ็ดเสร็จขนาดใหญ่มาก (very large scale integrated circuit) ซึ่งสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากกว่าสิบล้านตัว เราสามารถแบ่งคอมพิวเตอร์ในรุ่นปัจจุบันออกเป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (supercomputer)

image-supercomputer

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วมาก และมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก มีขนาดใหญ่ สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้หลายแสนล้านครั้งต่อวินาที และได้รับการออกแบบ เพื่อให้ใช้แก้ปัญหาขนาดใหญ่มากทางวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน การศึกษาผลกระทบของมลพิษกับสภาวะแวดล้อมซึ่งหากใช้คอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ แก้ไขปัญหาประเภทนี้ อาจจะต้องใช้เวลาในการคำนวณหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ จะต้องใช้หน่วยความจำสูง ดังนั้น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จึงมีหน่วยความจำที่ใหญ่มาก ซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ตั้งแต่รุ่นที่มีหน่วยประมวลผล (processing unit) 1 หน่วย จนถึงรุ่นที่มีหน่วยประมวลผลหลายหมื่นหน่วยซึ่งสามารถทำงานหลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน

เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (mainframe computer)

เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ มีสมรรถภาพที่ต่ำกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาก แต่ยังมีความเร็วสูง และมีประสิทธิภาพสูงกว่ามินิคอมพิวเตอร์หรือไมโครคอมพิวเตอร์ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์สามารถให้บริการผู้ใช้จำนวนหลายร้อยคนพร้อม ๆ กัน ฉะนั้น จึงสามารถใช้โปรแกรมจำนวนนับร้อยแบบในเวลาเดียวกันได้ โดยเฉพาะถ้าต่อเครื่องเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถใช้ได้จากทั่วโลก ปัจจุบัน องค์กรใหญ่ ๆ เช่น ธนาคาร จะใช้คอมพิวเตอร์ประเภทนี้ในการทำบัญชีลูกค้า หรือการให้บริการจากเครื่องฝากและถอนเงินแบบอัตโนมัติ (automatic teller machine) เนื่องจากเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ได้ถูกใช้งานมากในการบริการผู้ใช้พร้อม ๆ กัน เมนเฟรมคอมพิวเตอร์จึงต้องมีหน่วยความจำที่ใหญ่มาก

มินิคอมพิวเตอร์ (minicomputer)e3500

มินิคอมพิวเตอร์ คือ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ๆ ซึ่งสามารถบริการผู้ใช้งานได้หลายคนพร้อม ๆ กัน แต่จะไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะบริการผู้ใช้ในจำนวนที่เทียบเท่าเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ได้ จึงทำให้มินิคอมพิวเตอร์เหมาะสำหรับองค์กรขนาดกลาง หรือสำหรับแผนกหนึ่งหรือสาขาหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

ไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer) หรือ พีซี (personal computer หรือ PC)a530cb80eda5804f442ecc8fef935cc0

ไมโครคอมพิวเตอร์ คือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบขนาดตั้งโต๊ะ (desktop computer) หรือขนาดเล็กกว่านั้น เช่น ขนาดสมุดบันทึก (notebook computer) และขนาดฝ่ามือ (palmtop computer) ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เริ่มมีขึ้นในปีพ.ศ. 2518 ถึงแม้ว่าในระยะหลัง เครื่องชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่เนื่องจากมีราคาไม่แพงและมีขนาดกะทัดรัด ไมโครคอมพิวเตอร์จึงยังเหมาะสำหรับใช้ส่วนตัว ไมโครคอมพิวเตอร์ได้ถูกออกแบบสำหรับใช้ที่บ้าน โรงเรียน และสำนักงานสำหรับที่บ้าน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของครอบครัวช่วยทำการบ้านของลูก ๆ การค้นคว้าข้อมูลและข่าวสาร การสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail หรือ E – mail) หรือโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต (internet phone) ในการติดต่อทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งทางบันเทิง เช่น การเล่นเกมบนเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ สำหรับที่โรงเรียน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยสอนนักเรียนในการค้นคว้าข้อมูลจากทั่วโลกสำหรับที่สำนักงาน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยพิมพ์จดหมายและข้อมูลอื่น ๆ เก็บและค้นข้อมูล วิเคราะห์และทำนายยอดซื้อขายล่วงหน้า

ที่มา : http://www.eitcomputer.com/articles/161-1